ปฏิกิริยาของฝ่ายต่าง ๆ ของ การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ_พ.ศ._2553

ฝ่ายรัฐบาล

ในวันที่ 15 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวว่า หลังการชุมนุมผ่านมา 3 วันทุกอย่างเรียบร้อยปกติ ซึ่งผู้ชุมนุมมีการยื่นเวลาให้ตนยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง ตนได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือซึ่งเห็นร่วมกันว่าไม่ควรมีการยุบสภา[119]

การย้ายมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวน เพื่อออกมาตรการบังคับให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ถนนราชดำริ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฟังได้ว่าการกระทำของแกนนำทั้ง 5 และผู้ร่วมชุมนุมเป็นการปิดกั้นกีดขวางเส้นทางคมนาคมและการใช้ยานพาหนะของประชาชนทั่วไป ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำคัญ รวมทั้งเกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตของประชาชน จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพการเดินทางของประชาชนที่จะใช้เส้นทางสาธารณะและกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมที่เกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ม.34 และ 63 บัญญัติไว้ ดังนั้นเมื่อ ผอ.รมน.โดย ผอ.ศอ.รส. รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 18 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดและข้อประกาศห้ามแกนนำทั้งห้าและผู้ชุมนุมทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่ชุมนุมแล้ว ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจึงมีสภาพบังคับอยู่ในตัว และเมื่อมีประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมาร้องขอให้ศาลออกคำบังคับตามข้อกำหนดดังกล่าวอีก ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง[120]

ฝ่ายสนับสนุนการชุมนุม

ในวันที่ 14 มีนาคม นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่ากองทัพต้องวางบทบาทอยู่บนหลักความถูกต้อง ยึดถือความยุติธรรม เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ สหภาพฯออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่ให้นำกองกำลังทหารหลายกองร้อยออกปฏิบัติการเพื่อควบคุมฝูงชน เพราะจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน และหากมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง สหภาพฯจะเข้าร่วมต่อสู้กับประชาชนทันที[121]

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ว่าองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกแถลงการณ์ประณามการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชนแนลและเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยระบุว่าการปิดกั้นสื่อมวลชนที่ทั้งเป็นกลางและสื่อที่มีความเห็นไปในทางเดียวกับฝ่ายค้าน ทำให้อาจเกิดความรุนแรงได้[122]เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยนายสมชาย กล่าวว่าขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะหลีกเลี่ยงไม่ได้[123]

วันที่ 12 เมษายน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปะทะกันของเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบมีคนเดียว คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นบุคคลที่ขาดสำนึกความเป็นผู้นำ ปฏิเสธที่จะเข้าใจถึงปัญหาของคนในชาติ ตนไม่เคยพบเห็นการใช้กำลังติดอาวุธเข้าปราบปรามประชาชน ไม่เคยเห็นความรุนแรง และกระทำอย่างขาดความสำนึกเช่นนี้[124]

ในวันเดียวกันเวลา 19.30 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่าขอให้กลุ่มคนเสื้อแดงเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป วันนี้ถือว่าได้ประชาธิปไตยมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงไม่นานก็จะประสบความสำเร็จ เพื่อประเทศชาติ เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป[125]

เมื่อเวลา 14.20 น. นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แจกจ่ายแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลงวันที่ 14 พฤษภาคม ไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ยุติการใช้เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ พร้อมอาวุธสงครามร้ายแรง ทำการสลายการชุมนุมของประชาชนโดยทันที และสั่งให้เจ้าหน้าที่กลับกรม กองที่ตั้ง
  2. ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศในทุกจังหวัด โดยทันที
  3. เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทันทีเพื่อหาทางออกทางการเมือง โดยสันติวิธี
  4. ร่วมเจรจาหาแนวทางปรองดองอย่างแท้จริงกับทุกฝ่ายในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตย และความยุติธรรม และประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้การปรองดองต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความยุติธรรม เมตตาธรรม และความจริงใจ[126]

ฝ่ายต่อต้านการชุมนุม

ในวันที่ 9 มีนาคม นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 4/2553 ว่ารัฐบาลจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่กับผู้ชุมนุม เพื่อป้องปรามความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยระบุว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆในช่วงเวลาดังกล่าว[127]

ในวันที่ 23 มีนาคม นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการกลุ่มสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ให้ชาวกรุงเทพมหานครรวมตัวกันเพื่อต่อต้านความรุนแรง รวมทั้งให้อยู่ในที่ตั้งเพื่อเฝ้าระวังเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง[128]

กลุ่มพี่น้องมหิดลออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ นปช. ยุติให้ผู้ชุมนุมเจาะเลือดแม้ผู้ให้จะเต็มใจก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าการนำเอาเลือดออกจากร่างกาย มีไว้เพื่อการตรวจวินิจฉัย เพื่อการรักษา หรือการบริจาคเท่านั้น มิสามารถกระทำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดได้ รวมทั้งมองว่าระดับแกนนำย่อมมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลผู้เข้าร่วมชุมนุมให้เกิดความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดีอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรเลือกวิธีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การอ่อนเพลียจากการสูญเสียเลือดและอากาศร้อนอบอ้าว [129]

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกแถลงการณ์ขอให้กลุ่มคนเสื้อแดง คืนพื้นที่แยกราชประสงค์ที่ปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2553 โดยให้กลับไปชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยที่ประชุม กกร. มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการชุมนุมดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อการทำมาหากินในทุกระดับ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านค้าย่อย รวมทั้ง นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ และแม้ นปช.จะมีสิทธิในการชุมนุมเพื่อแสดงออกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ควรจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมควรมีความชัดเจนและจริงใจต่อกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง[130]

ที่ประชุมสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย ได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่ม นปช. ร่วมกันหาทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งและการชุมนุมโดยเร็ว หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับความเสียหายแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการรวมพลังของผู้ประกอบการในที่ต่างๆ เช่น จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ สมุย พัทยา โดยใช้ข้อความว่า "ยุติความขัดแย้งเพื่อท่องเที่ยวไทย ทุกฝ่ายหยุดทำร้ายท่องเที่ยวไทย สมานฉันท์เพื่อท่องเที่ยวไทย" พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายดูแลการชุมนุมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วและปราศจากความรุนแรง เพราะถ้าการชุมนุมยังยืดเยื้อจะกระทบความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ [131] โดยสำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานข่าวว่า การประท้วงของคนเสื้อแดงกำลังสร้างความไม่พอใจให้กับชาวกรุงเทพจำนวนมาก จนเกิดการชุมนุมของคนเสื้อชมพูมากกว่า 1,000 คน ที่สวนลุมพินี เพื่อระบุว่าพวกเสื้อแดงไร้เหตุผล นับเป็นครั้งแรกจากการบุกเข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯ ของเสื้อแดงที่มีคนกลุ่มใหญ่ออกมาต่อต้าน เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลไทยที่มีกองทัพหนุนหลังจะไม่รีบร้อนยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ซึ่งอาจเปิดทางให้ผู้สนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรรีบขึ้นมาชิงอำนาจคืน [132]

16 เมษายน พ.ศ. 2553 นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำผู้ประสานงานกลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ และกลุ่มเฟสบุ๊คต้านยุบสภา เดินทางมาให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ที่บริเวณด้านหน้า กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

18 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มคนเสื้อหลากสี อันประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนพิทักษ์ชาติ และเครือข่ายเฟซบุ๊ก เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้รัฐบาลทำหน้าที่ พร้อมทั้งคัดค้านการยุบสภา และแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง[133]

21 เมษายน พ.ศ. 2553 พนักงานบริษัทย่านสีลม ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ เครือข่ายประชาคมชาวสีลม ออกมาชุมนุมในช่วงเวลาพักเที่ยงต่อต้านการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง พร้อมทั้งมอบอาหารและน้ำให้กับทหารและตำรวจที่มาดูแลรักษาความปลอดภัย [134]

ปฏิกิริยาจากนานาชาติ

สหรัฐอเมริกา โดยนาย ไมค์ โทเนอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา อ่านแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางออกในวิกฤตการเมืองไทยระหว่างผู้นำฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเสื้อแดง และสนับสนุนการแสดงตามสิทธิในการเดินขบวนตามท้องถนนแต่ก็ได้เรียกร้องให้แกนนำฝ่ายเสื้อแดงสาบานก่อนว่าจะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงใด ๆ[135][136] ภายหลังจากเหตุการบุกรุกรัฐสภาของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประณามกลุ่มผู้ประท้วง โดย นายฟิลิป โครว์ลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อ่านแถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐฯ เคารพการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ แต่การเข้าไปยังอาคารราชการ เป็นวิถีทางที่ไม่เหมาะสมสำหรับการประท้วงซึ่งทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมและการประท้วงอย่างสงบ ซึ่งสหรัฐฯ หวังว่าความเห็นที่แตกต่างกันจะสามารถแก้ไขได้ด้วยสถาบันประชาธิปไตยและไม่ใช้ความรุนแรง[137]

นาง ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า วิพากษ์วิจารณ์วิกฤตการเมืองไทยว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดยทหาร ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ พร้อมวิจารณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ว่าเป็นการยึดอำนาจ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้ง[138]

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียได้ส่งจดหมายเปิดผนึกให้แก่นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อเตือนให้หยุดใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ มิเช่นนั้นแล้วนายอภิสิทธิ์จะตกเป็นผู้รับผิดชอบตามมาตรา 25 (3) (a) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการจงใจใช้กำลังจู่โจมผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนโดยตรง ซึ่งการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม นปช. ที่ราชประสงค์นั้นถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อมาตราที่ 8 (2) (e) (i) ของ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมแล้ว ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียยังได้เสนอให้รัฐบาลไทยกลับมาใช้วิธีการเจรจากับผู้ชุมนุม เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่มีการสังหารผู้ชุมนุมเช่นวันที่ 10 เมษายน เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง[139]

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแห่งหน่วยงานฮิวแมนไรท์วอช ประจำนครนิวยอร์ก ชี้ว่าการประกาศใช้เขตใช้กระสุนจริงของรัฐบาลไทย เพื่อใช้ต่อสู้กับกลุ่มผู้ประท้วงคนเสื้อแดง เป็นสิ่งที่ล่อแหลมอันตราย โดยการประกาศเขตดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไทยเสี่ยงที่จะเขยิบเข้าสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเรือน ซึ่งจะทำให้ทหารคิดอย่างตื้น ๆ ว่า เขตใช้อาวุธจริงก็คือเขตยิงกระสุนได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะเมื่อความรุนแรงขยายตัว ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตชุมชนชาวบ้าน และรัฐบาลไทยจะต้องตระหนักว่า มีประชาชนคนธรรมดาอาศัยอยู่ที่นี่ด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ประท้วงเท่านั้น[140]

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน บริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพออสเตรเลีย รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณชน[141]

บทบาทสังคมออนไลน์ต่อการชุมนุม

สำหรับเหตุการณ์นี้ สังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, แคมฟรอก, ซอฟแคช มีบทบาทอย่างมาก สำหรับการรายงานข่าวของเหตุการณ์ โดยมีการ follow นักข่าวที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ[ต้องการอ้างอิง] ช่วยรายงานออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น แบล็คเบอรี่, ไอโฟน, 3Gข่าวที่ได้ก็รวดเร็วกว่าสื่ออื่นๆ และหลายข่าวมีผู้รายงานหลายคนให้เปรียบเทียบด้วย[ต้องการอ้างอิง]

ใกล้เคียง

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 การชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาไทย 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน การชุมนุมที่เนือร์นแบร์ค การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2554 การชุมนุมโค่นล้มระบอบทักษิณ พ.ศ. 2556 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมษายน พ.ศ. 2552 การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า

แหล่งที่มา

WikiPedia: การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ_พ.ศ._2553 http://www.brisbanetimes.com.au/world/16-dead-more... http://www.smh.com.au/world/Red-Shirts-on-rampage-... http://www.theage.com.au/world/army-declares-shoot... http://www.abc.net.au/news/2010-06-08/thai-king-si... http://www.atnnonline.com/index.php?option=com_con... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/105233 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/108670 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/119852